หน้ากากอนามัยที่ใช้ทางการแพทย์ต้องมีคุณสมบัติเป็นไปตามมาตรฐานที่คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำหนดไว้ ซึ่งจะมีความสอดคล้องตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และสามารถเทียบเคียงได้กับมาตรฐานสากล เช่น มาตรฐาน American Society of Testing and Materials (ASTM) ซึ่งตรวจสอบโดยหน่วยงานสถาบันอาชีวอนามัยและความปลอดภัยของประเทศสหรัฐอเมริกา (The National Institute for Occupational Safety and Health, NIOSH) โดยจะแบ่งเป็นหน้ากากทางการแพทย์ (Surgical mask) เป็น 3 ระดับ คือ Low Barrier, Medium Barrier และ High Barrier ตามคุณสมบัติทางกายภาพของหน้ากากอนามัย ดังนี้
ค่าประสิทธิภาพการกรองแบคทีเรีย (Bacterial Filtration Efficiency : BFE) ค่าประสิทธิภาพการกรองแบคทีเรีย เป็นค่าที่บ่งบอกถึงความสามารถของหน้ากากอนามัยในการกรองอนุภาคของแบคทีเรียและเชื้อจุลินทรีย์อื่นๆ ซึ่งมีอนุภาคเฉลี่ย (Mean Particle Size : MPS) ขนาด 3 ± 0.3 ไมครอน
ค่าประสิทธิภาพการกรองไวรัส (Viral Filtration Efficiency : VFE) ค่าประสิทธิภาพการกรองไวรัส เป็นค่าที่บ่งบอกถึงความสามารถของหน้ากากอนามัยในการกรองอนุภาคของไวรัส ซึ่งมีอนุภาคเฉลี่ย (Mean Particle Size : MPS) ขนาด 3 ± 0.3 ไมครอน
ความสามารถในการป้องกันการซึมผ่าน (Fluid Resistance)ความสามารถในการป้องกันการซึมผ่านของของเหลวจากชั้นนอก (Outer Layer) ถึงชั้นใน (Inner Layer) ของหน้ากากอนามัย โดยใช้เลือดเทียมทดสอบการซึมผ่านที่ความดัน 80 mmHg (Low Barrier), 120 mmHg (Medium Barrier), และ 160 mmHg (High Barrier)
ความต่างของแรงดัน (Differential Pressure : Delta P)ความต่างของแรงดัน เป็นการวัดแรงต้านทานของอากาศที่ผ่านหน้ากากอนามัย เพื่อดูความสะดวกในการหายใจ ค่ายิ่งต่ำยิ่งหายใจง่าย ซึ่งตามมาตรฐานกำหนดให้ค่าต่ำกว่า 5 mm H2O/cm2
คุณสมบัติการติดไฟ (Flammability)การทดสอบคุณสมบัติการติดไฟ โดยประเมินจากความเร็วในการเผาไหม้และการเกิดเปลวไฟ มี 3 ระดับ (Class 1, 2, 3) โดย ระดับ Class 1 ดีที่สุด (เผาไหม้ช้าและเกิดเปลวไฟในระยะไม่ไกล)